5 เทรนด์ออกแบบบ้านสู้ฝุ่น อีกกี่ ‘วิกฤตฝุ่น PM 2.5’ ก็เอาอยู่ สรุปประเด็น จากวงเสวนา โดยสภาคณบดีคณะสถาปัตย์ฯ

ข่าว
ข่าวสภาคณบดี

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้แนะนำแนวทางการรับมือกับภัยฝุ่นในเมืองใหญ่ด้วยหลักการออกแบบสำหรับผู้ที่คิดจะสร้างบ้านใหม่ในเมืองว่า

“แนวคิดการออกแบบบ้านในเขตเมืองเพื่อรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการเมืองสมัยใหม่ หรือ Urban Management เนื่องจากบ้านเป็นหน่วยที่พักอาศัยที่ใกล้ชิดกับการดำเนินชีวิตประจำวันมากที่สุด ซึ่งเรามี 5 เทรนด์ออกแบบบ้านสู้ฝุ่นที่นำแนวทางการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกตัวบ้านและการตกแต่งภายในบ้านมาแชร์กันค่ะ”

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี
  1. ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เนื่องจากฝุ่นละอองจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็นปะทะกับอากาศอุ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะที่สภาพอากาศปิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่ลมหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้านจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น บ้านที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่นจึงควรลดช่องลมหรือเบี่ยงทิศตัวบ้านให้ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองภายนอกพัดเข้าสู่ตัวบ้าน
  2. เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน การออกแบบงานภูมิทัศน์ หรือการจัดสวนไม้ประดับ ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน มีใบเล็กแหลมและแน่น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีฝุ่นเป็นจำนวนมาก หากมีพื้นที่บริเวณบ้านควรปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน และสามารถนำต้นไม้มาประดับตกแต่งผนังแทนการใช้กระเบื้อง การออกแบบงานภูมิทัศน์ นอกจากช่วยในการดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้น
  3. เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย การเลือกใช้วัสดุตกแต่งบ้านและการออกแบบบางประเภทอาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้เหล็กดัดลวดลาย การออกแบบผนังด้วยการเรียงอิฐไม่ฉาบปูน หรือการใช้อิฐโชว์แนว การออกแบบผนังหรือพื้นเป็นปูนพลาสเตอร์ปั้น และหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ผ้าม่าน ผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ พรม เป็นต้น
  4. ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดเครื่องกรองและแผ่นกรองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค และหากมีการใช้พรมเช็ดเท้าและพรมปูในบ้าน ควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองภายในบ้าน
  5. เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน เนื่องจากพื้นที่ว่างบริเวณหลังตู้และเพดาน เป็นจุดอับที่ยากต่อการทำความสะอาด และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง ดังนั้น จึงควรเลือกขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงให้พอดีหรือติดกับฝ้าเพดาน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ตู้ และวางของบนโต๊ะให้น้อยที่สุด

รู้ทันปัจจัยก่อปัญหาฝุ่น แล้วรับมือด้วยการปรับเปลี่ยนตามหลักภูมิสถาปัตย์

ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์

ด้าน ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภูมิสถาปนิก อธิบายถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยฝุ่นในกรุงเทพมหานครตามหลักภูมิสถาปัตย์ว่า

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นค่อนข้างสูง และมีพื้นที่สีเขียวเพียง 10% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ สิงคโปร์ ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงไม่ต่างกัน แต่กลับมีพื้นที่สีเขียวถึง 47% ของพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงต้องปรับการวางผังเมืองใหม่ให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกรองฝุ่นและแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศได้มากขึ้นกว่านี้”

“ตามหลักภูมิสถาปนิกได้เสนอให้มีการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง โดยกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน และกระจายอยู่ในตัวเมืองเพื่อเป็นตัวกรองอากาศ ทั้งนี้ ประเด็นการสร้างพื้นที่สีเขียวควรระบุไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี ต่อจากนี้ โดยควรอาศัยช่วงที่เกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นช่องทางในการจุดประกายให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนรับผิดชอบในการแก้ปัญหาภัยฝุ่นนี้ได้ตระหนักถึงมลภาวะทางอากาศในเขตเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้นได้”

ผศ.ดร.พลเดช เชาวรัตน์

ส่วน ผศ.ดร.พลเดช เชาวรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมเสนอความคิดเห็นและทางแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในงานเสวนาครั้งนี้ว่า 

“หากไปดูการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศของเมืองใหญ่ในประเทศเยอรมนี ที่เคยเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากการทำอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ ซึ่งในที่สุดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาภัยฝุ่นนี้ โดยหนึ่งในนั้น คือ การปรับผังเมืองครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวและยกระดับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้แนวคิดการจัดการเมืองต้องเติบโตพร้อมพื้นที่สีเขียว การปรับปรุงระบบบริการขนส่งสาธารณะ การปรับแหล่งอำนวยความสะดวกให้สามารถเดินเข้าถึงสะดวกและลดการใช้รถยนต์ การจำกัดการใช้รถยนต์และการห้ามรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานเข้าเมืองในโซนที่กำหนด รวมถึงสร้างทางจักรยานเพื่อให้ประชาชนเลือกใช้ในการเดินทาง เป็นต้น”

นี่จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าการออกแบบภูมิสถาปัตย์มีบทบาทอย่างยิ่ง ที่จะปรับเปลี่ยนเมืองเพื่อรับมือปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.พลเดช ย้ำล่าสุดว่าสิ่งสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สำหรับกรุงเทพฯ และอีกหลากหลายจังหวัดในบ้านเรา คือ ความร่วมมือของทุกคนในการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล งดการเผาสิ่งปฏิกูล เป็นต้น


ที่มา : https://www.salika.co/2019/01/24/5-architecture-trends-fight-pm2-5/?fbclid=IwAR1QpbNUnygXPO3y2exERR2A7vPlt3MxIPPCrHD8kZzr_G9ulopmJti4W-U