เกี่ยวกับเรา

สภาคณบดี

เกี่ยวกับสภาคณบดี

สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นในปี 2537 สืบเนื่องมาจาก การที่คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของทบวงมหาวิทยาลัย (สกอ.ในปัจจุบัน) ได้มีโอกาสพบปะ และประชุม ปรึกษาหารือในกิจกรรมต่างๆทางวิชาการสถาปัตยกรรม ในที่สุดได้ตกลงก่อตั้ง สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แห่งประเทศไทย โดยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้น คือ รองศาสตราจารย์ ต่อพงศ์ ยมนาค เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดตั้งร่วมกับอีก 6 สถาบันที่มีการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในขณะนั้น และมี รศ.เดชา บุญค้ำ เป็นประธานสภาคณบดีคนแรก

ผลของการสัมมนาสถาปัตยกรรมศาสตร์ศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539 ได้บ่งชี้ให้เห็นโดยชัดเจน ถึงความสำคัญ และความจำเป็นของสภาคณบดีที่มีต่อการพัฒนาการศึกษา และวิชาชีพสถาปัตยกรรม ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 จึงได้มีการประชุมคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย / สถาบันต่างๆ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และตกลงให้มีการร่างระเบียบ “สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย” ขึ้นโดยมีการปรับแก้ระเบียบให้เหมาะสมขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพและเป็นประธานฯ


วัตถุประสงค์

เพื่อเป็นองค์กรกลางในการประสาน ความร่วมมือระหว่างคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของสถาบัน อุดมศึกษา ของรัฐและเอกชน เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสาขาวิชาต่างๆ ทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมทั้งประสานงานกัน เพื่อให้เกิดบทบาท เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านวิชาการ การเตรียมปฏิบัติวิชาชีพ การวิจัย การบรรยายวิชาการแก่สังคม และ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

  1. เป็นตัวแทนของสถาบันอุดมศึกษาสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศไทย (1)
  2. ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาสถาปัตยกรรมและ สาขาที่เกี่ยวข้อง (2)
  3. ส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและวิชาชีพสถาปัตยกรรม (3)
  4. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวิชาการทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม และ สาขาที่เกี่ยวข้อง
  5. ส่งเสริม แนะนำ เผยแพร่ และงานบริการวิชาการ
  6. ส่งเสริมความสามัคคีของสมาชิก
  7. ดำเนินการตามที่เห็นร่วมกันของสมาชิก
  8. ส่งเสริมพันธกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านวิจัย ด้านบริการวิชาการและ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งงานด้านวิเทศสัมพันธ์ของสมาชิก

บทบาทหน้าที่

เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ดังนี้

  1. ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาคุณภาพอาจารย์ และการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ
  2. เชื่อมประสานระหว่างสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้ข้อเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและ รัฐบาล ในเรื่องที่เกี่ยวกับสาขาวิชาต่างๆ ทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์
  3. สะท้อนความคิด และแสดงท่าทีในเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือเรื่องที่เป็นปัญหาร่วมกัน ของสถาบัน การศึกษาทางสาขาวิชาต่างๆ ทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์
  4. จัดทำฐานข้อมูลของสมาชิกสภาคณบดีฯ และกำหนดมาตรฐานการศึกษา และวิธีการตรวจสอบ เพื่อนำมาใช้ในงานการประกันคุณภาพการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์

การดำเนินงาน ได้มีการกำหนดแนวทางไว้เป็นเบื้องต้นดังนี้

  1. จัดให้มีการประชุมสภาคณบดีฯ อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง โดยมีการเลือกรองประธานสภาคณบดีฯ และคณะทำงานในการประชุมครั้งแรก
  2. จัดให้มีการประชุมใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งประกอบด้วยคณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าสาขาวิชา โดยสามารถเชิญ ตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาสถาปนิก และสถาปนิกที่สนใจเข้าร่วมประชุมได้
  3. ให้ประธานสภาคณบดีฯ แต่งตั้งเลขาธิการสภาคณบดีฯ กำหนดที่ตั้งของสำนักงาน เลขาธิการสภาคณบดีฯ รวมทั้งดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของฝ่ายเลขาธิการ
  4. ให้รองประธานสภาคณบดีฯ คนที่ 2 แต่งตั้งผู้ช่วยเลขาธิการสภาคณบดีฯ เพื่อเข้าร่วมประชุม ด้วยทุกครั้ง และทำการประสานงานและเตรียมรับงานของสภาคณบดีฯ ในวาระถัดไป